แกงกะทิผักพูม
ผักพูม เป็นไม้ยืนต้น แต่เท่าที่เห็นมาต้นจะไม่สูงมาก เพราะคนที่ไปเก็บยอดมักจะตัดแต่งต้นไม่ให้ขึ้นสูง ซึ่งจะเป็นการยากในการเก็บยอด
บางคนเข้าใจว่าผักพูมคือ "หมากหมก" (แถวๆ จ.นครศรีฯ) , บางคนก็ว่าผักพูมคือ "ผักหวานป่า" (ภาษาบางกอก)
ผมลองใช้ Google ค้นหาทั้ง "ผักพูม" , "หมากหมก" และ "ผักหวานป่า" ดูแล้วมีส่วนต่างกันมากทั้งต้น ใบ และผล
ต้นผักพูมที่พบจะเติบโตอยู่ในป่าธรรมชาติ เท่าที่เห็นมา แถว ๆ อ.ไชยา - อ.ท่าชนะ ของ จ.สุราษฎร์ธานี
เริ่มต้นโดยการไปหาผักพูม จากในป่า
ลูกเสือพร้อมไม้กระบองและรองเท้าบูท เตรียมลุยป่า(ด้านหลัง)

หลังจากเข้าป่าไปประมาณหนึ่งชั่วโมง ไม้กระบองก็หายไปจากมือซ่ะแล้ว แต่ได้ผักพูมมาครึ่งถุง

ผักพูมที่ได้มาจากป่า เก็บมาเฉพาะยอดอ่อนกับยอด "เพ-หลาด" (ไม่อ่อน-ไม่แก่)

นำใบผักพูมที่ได้มาล้างให้สะอาด

เด็ดเอาเฉพาะใบมามัดกันเป็นกำ ให้ยอดอ่อนอยู่ด้านในแล้วเอาใบเพ-หลาดห่อด้านนอก แล้วมัดด้วยใบตะไคร้
(คุณย่าบอกว่าการมัดด้วยใบตะไคร้จะได้กลิ่นหอมกว่าสิ่งอื่น)

จากนั้นเอามาต้มกับน้ำกะทิ (หางกะทิ)

ใส่เกลือเกง (บังเอิญแฟลชจากกล้องถ่ายรูปแรงเกินไปจนเกลือดูขาวโพลนเลย)

ตามด้วยกะปิ

ตั้งไฟต้มจนเดือด (ปิดฝาหม้อซ่ะด้วยนะ)

ระหว่างรอ เอาน้ำกะทิ (หัวกะทิ) มาหั่นหัวหอมใส่ลงไปหนึ่งหัว

เปิดฝาดูอีกรอบ ว่าใบผักพูมสุกแล้วหรือยัง

เมื่อใบผักพูมสุกแล้ว ก็ใส่น้ำตาลทรายลงไป

แล้วตามด้วยหัวกะทิ (ที่ซอยหัวหอมใส่ลงไป) คุณย่าบอกว่าการใส่หัวกะทิลงไปทีหลังจะทำให้รสชาติหวานกว่า

ทิ้งไว้บนไฟสักพัก แล้วลองชิมดูว่าขาดรสชาตอะไรบ้าง เติมปรุงลงไปจนอร่อย เสร็จแล้วเอาลงจากไฟ รอจนอุ่น ๆ

ตักใส่ถ้วยทั้งมัดแล้วแกะใบตะไคร้ออกไป ทีนี้ก็พร้อมที่จะรับประทานแล้วครับ

ทานกับข้าวสวยร้อน ๆ ....

